วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562

รู้หรือไม่? เต่าทะเลกว่าครึ่ง หลงกินพลาสติกเข้าไปเป็นอาหาร


งั่มๆๆๆ อาหารเช้าอร่อยๆ มันต้องแบบนี้ เห็นน้องเต่าตนุหม่ำแมงกะพรุนอย่างเอร็ดอร่อยแบบนี้แล้วก็ไม่แปลกใจเลยที่ เต่าจำนวนมากจะหลงคิดว่าถุงพลาสติกคืออาหารแสนอร่อย

Viedography by Jacinta Shackleton บันทึกได้จากเกาะ Lady Elliot ในออสเตรเลีย

งานวิจัยที่ออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าการที่เต่าหลงกินพลาสติกเล็กๆเข้าไปเพียงชิ้นเดียวก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตแล้ว และปัจจุบันกว่าครึ่งของลูกเต่าที่เพิ่งฟักออกมาไม่นานหลงกินพลาสติกเป็นอาหาร!!

นักวิจัยได้คำนวณโอกาสในการตายของเต่าหากหลงกินพลาสติกเข้าไป ซึ่งได้ผลที่น่าตกใจว่า หากกินพลาสติก 1 ชิ้นเต่าจะมีโอกาสตายสูงถึง 1 ใน 5 และหากกินพลาสติกเข้าไป 14 ชิ้นจะมีโอกาสตายถึง 50% หรือครึ่งต่อครึ่ง

งานวิจัยยังพบว่าเต่าอายุน้อยๆ หลงกินพลาสติกเข้าไปเป็นอาหารยิ่งกว่าเต่าตัวเต็มวัย นอกจากนี้ก็มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าด้วย เช่น กรณีลูกเต่าหัวค้อนตัวน้อยเสียชีวิตที่ฟลอริดาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แล้วพบพลาสติกชิ้นเล็กๆในท้องกว่าร้อยชิ้น

มีการประเมินว่ากว่าในปัจจุบันกว่าครึ่งของเต่าทะเลหลงกินพลาสติกเข้าไปเป็นอาหาร ในขณะที่พบว่าเต่าตนุวัยอ่อนที่บราซิลมีอัตราการกินพลาสติกสูงถึง 90% เลย

งานวิจัยนี้ทำการศึกษาด้วยการผ่าพิสูจน์ซาก เทียบกับสถิติเต่าที่ขึ้นมาเกยตื้นในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย และนำมาหาสาเหตุการตายที่เกิดจากพลาสติก ซึ่งพบว่าถ้าเต่ากินพลาสติกเข้าไปกว่า 200 ชิ้น เต่าตัวนั้นตายแน่นอน ถ้า 14 ชิ้น มีโอกาสตายครึ่งหนึ่ง และแค่หนึ่งชิ้น มีโอกาสตาย 22%

"ที่พลาสติกสร้างปัญหาให้เต่ามาก เพราะทางเดินอาหารของเต่าไม่สามารถคายอาหารออกมาได้เลย" Dr Britta Denise Hardesty นักวิจัยแห่ง CSIRO สถาบันวิจัยแห่งชาติอธิบาย

"เศษถุงพลาสติกเล็กๆ บางๆ เพียงชิ้นเดียวถ้าไปอุดตันในจุดเสี่ยงก็จะทำให้อาหารไม่สามารถผ่านลงไปได้ และการภาวะทางเดินอาหารอุดตันก็ทำให้เต่าเสียชีวิต ในขณะที่เศษพลาสติกแข็งๆ บางชิ้นก็อาจทำให้เกิดบาดแผลภายในซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้เช่นกัน"​

ที่ยิ่งน่าเป็นห่วงคือเต่าวัยเด็กที่พบว่ากินพลาสติกในสัดส่วนที่สูงมาก โดยพบว่าเต่าวัยอ่อนหลงกินพลาสติก 23% ในขณะที่ลูกเต่าที่เพิ่งฟักไม่นานกินพลาสติกถึง 54% เทียบกับเต่าตัวเต็มวัยราวๆ 16% ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่า อาจเป็นเพราะเต่าวัยเด็กหากินในทะเลเปิดและใช้เวลาค่อนข้างมากอยู่ที่ผิวน้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่พบชิ้นส่วนขยะพลาสติกได้บ่อย

แนวโน้มดังกล่าวน่าเป็นห่วงอย่างมาก แม้เต่าจะอายุยืนและมีช่วงเวลาขยายพันธุ์ได้ยาวนานหลายสิบปี แต่การที่ลูกเต่าและเต่าวัยเด็กหลงกินพลาสติกเข้าไปจำนวนมาก ย่อมจะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว รวมไปถึงความอยู่รอดของเต่าทะเลในอนาคต

งานวิจัยเรื่องนี้ Wilcox et al. 2018 A quantitative analysis linking sea turtle mortality and plastic debris ingestion https://www.nature.com/articles/s41598-018-30038-z

ที่มาจาก เพจ ReReef

0 ความคิดเห็น: