วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

ตำนานรักเจ้าน้อยฯแห่งเมืองเชียงใหม่ - โศกนาฏกรรมรัก ที่ทำให้ใครหลายคนต้องเสียน้ำตา

"ตำนานรักเจ้าน้อยศุขเกษม" เรื่องราวโศกนาฏกรรมรัก ที่หลายคนยังคงจดจำเรื่องราวได้ดี เป็นเรื่องราวของความรักที่ไม่อาจได้อยู่ร่วมรักสมความปรารถนาได้ ด้วยเหตุผลทางด้านชั้นวรรณะที่ต่างกัน สุดท้ายแม้ทั้งคู่จะไม่อาจร่วมครองคู่เฉกเช่นคู่รักอื่นทั่วไป แต่ทั้งสองก็ได้เลือกที่จะรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม

ร้อยตรี เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือในชื่อที่เรารู้จักกันดีว่า "เจ้าน้อยศุขเกษม" มีชีวิตในช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๒๐ - ๒๔๕๓ เป็นราชโอรสองค์ใหญ่ใน พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ กับ เจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่
เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี เจ้าพ่อและเจ้าแม่ ได้ส่งไปศึกษาต่อยัง โรงเรียนเซนต์แพทริค ในเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า 
ขณะนั้นเอง เจ้าน้อยศุขเกษมได้พบรักกับแม่ค้าสาวชาวพม่าหน้าตาพริ้มเพราคนหนึ่ง เธอชื่อว่า "มะเมี๊ยะ" ทั้งสองได้มีใจรักต่อกันและได้คบหาดูใจกันเรื่อยมา จนในที่สุดทั้งคู่จึงตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา
พระธาตุเจดีย์ไจ๊ตะหลั่น พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมะละแหม่ง

ทั้งสองได้ร่วมสาบานรักต่อกันหน้าลานพระธาตุเจดีย์ไจ๊ตะหลั่น พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองมะละแหม่งมาช้านาน ซึ่งทั้งคู่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักกันตลอดไป ไม่มีใจคิดเป็นอื่น หากวันใดมีใจคิดทรยศ ก็ขอให้มีอันเป็นไป

แต่แล้ว...ช่วงเวลาแห่งความสุขของทั้งคู่ก็ได้หมดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเจ้าน้อยฯได้สำเร็จการศึกษา เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี จึงถูกเรียกตัวกลับมายังเมืองเชียงใหม่

เจ้าน้อยฯ ไม่อาจฝืนคำสั่งของเจ้าพ่อเจ้าแม่ได้ จึงจำใจต้องเดินทางกลับเชียงใหม่ แต่เจ้าน้อยมิอาจตัดใจจากมะเมี๊ยะ หญิงคนรักได้ จึงให้มะเมี๊ยะเดินทางติดตามมาด้วย โดยให้มะเมี๊ยะปลอมตัวเป็นเพื่อนชายชาวพม่า

เมื่อทั้งสองเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ได้ไม่นาน จึงได้ทราบข่าวอันน่าตกใจว่า เจ้าน้อยฯ ได้ถูกหมั้นหมายไว้แล้วกับเจ้าหญิงบัวนวล ธิดาของเจ้าสุริยวงศ์ (คำตัน สิโรรส) โดยที่เจ้าน้อยฯ ไม่ทราบมาก่อน

เจ้าน้อยจึงตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวทุกอย่างให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ทราบ แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดแตกหัก เมื่อเจ้าพ่อและเจ้าแม่ไม่อาจยอมรับมะเมี๊ยะ หญิงสามัญชนขึ้นมาเป็นสะใภ้ได้ กอปรกับปัญหาการเมืองในขณะนั้นด้วยแล้ว การจะให้เจ้าน้อยฯแต่งงานกับหญิงชาวพม่า ซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษนั้น เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเกรงจะเป็นชนวนปัญหาเกิดความแคลงใจกับสยาม เจ้าพ่อเจ้าแม่จึงยื่นคำขาดในทันที ให้ส่งตัวมะเมี๊ยะกลับไปยังพม่าตามเดิม และภายหลังเจ้าหญิงบัวนวลได้ทราบเรื่องเจ้าน้อยฯกับมะเมี๊ยะ เจ้าหญิงบัวนวลจึงได้ขอถอนหมั้นกับเจ้าน้อยฯทันที

มะเมี๊ยะเข้าใจในเหตุผลดังกล่าว จึงยินยอมที่จะเดินทางกลับ ทั้งสองยังคงยืนยันในคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน หากยังมีวาสนา คงจะได้อยู่ร่วมครองคู่กันตลอดไป

บรรยากาศในเช้าวันส่งตัวมะเมี๊ยะนั้น ช่างเต็มไปด้วยความโศกเศร้า เจ้าน้อยได้รับปากกับมะเมี๊ยะว่า ตนจะรักษาคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อกันหน้าลานพระธาตุไจ๊ตะหลั่น จะไม่ขอแต่งงานกับหญิงอื่น วันใดผิดคำสัญญา จะต้องประสบแต่ความทุกข์ทรมานใจ แม้แต่อายุก็จะไม่ยืนยาว มะเมี๊ยะได้แต่ร่ำไห้ออกมาด้วยความอัดอั้น ก้มลงแทบบาทของเจ้าน้อยศุขเกษม เธอได้สยายผมลงเช็ดบาทของเจ้าน้อยพร้อมน้ำตา ก่อนที่เธอจะเดินทางจากไป

หลังจากนั้นไม่นานนัก เจ้าน้อยศุขเกษม ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็น ร้อยตรีเจ้าอุตรการโกศล ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่
ภาพถ่าย เจ้าน้อยศุขเกษม กับเจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่

แต่เจ้าน้อยศุขเกษม ไม่เคยมีความสุขในชีวิตสมรสเลย ยังคงอาลัยรักต่อหญิงคนรักเก่า คือมะเมี๊ยะอย่างที่สุด เจ้าน้อยฯจึงยึดสุรา เป็นเพื่อนดับความกลัดกลุ้มไปวันๆเท่านั้น
วันหนึ่ง มะเมี๊ยะได้ทราบข่าว จึงได้เดินทางมาเมืองเชียงใหม่ เพื่อร่วมแสดงความยินดีในชีวิตสมรสของเจ้าน้อยฯ แต่ด้วยความที่เจ้าน้อยฯไม่อาจหักห้ามความสงสารที่มีต่อมะเมี๊ยะได้ จึงไม่ยอมลงไปพบตามคำขอ เพียงแต่ประทานเงินจำนวน ๘๐ บาท กับแหวนทับทิมประจำกายอีกหนึ่งวง มอบให้มะเมี๊ยะเก็บไว้เป็นตัวแทนของเจ้าน้อยฯ

เจ้าน้อยศุขเกษม สิ้นชีพิตักษัย ด้วยวัยเพียง ๓๓ ปี จากการดื่มสุราอย่างหนัก เนื่องมาจากตรอมใจที่ต้องพลัดพรากจากหญิงคนรัก ตามหลักฐานเอกสารที่ออกจากศาลาว่าการมหาดไทย เมื่อวันที่ ๒๖ มีนามคม พ.ศ. ๒๔๕๖ บันทึกไว้ว่า

"เจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) กรรมการพิเศษเมืองนครเชียงใหม่ ได้ป่วยเป็นโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรังมาช้านาน ได้ถึงแก่กรรมเสียเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ นี้แล้ว อายุได้ ๓๓ ปี"



เจ้าหญิงบัวชุมผู้เป็นชายา ก็คงไม่ได้มีความสุขอะไรนักในชีวิตสมรส เพราะเจ้าน้อยศุขเกษมไม่ได้มีใจให้แก่ตน เมื่อสิ้นเจ้าน้อยฯแล้ว เจ้าหญิงบัวชุม ก็ได้แต่งงานใหม่

ส่วนมะเมี๊ยะนั้น หลังจากเดินทางกลับไปยังเมืองมะละแหม่งตามเดิมแล้ว เพื่อแสดงออกถึงความซื่อสัตย์ในรักที่มีต่อเจ้าน้อยศุขเกษม นางจึงได้บวชเป็นชี จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ รวมอายุได้ ๗๕ ปี
กู่บรรจุอัฐิของเจ้าน้อยศุขเกษม ภายในวัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ปัจจุบัน ได้มีการบรรจุอัฐิของเจ้าน้อยศุขเกษม ไว้ภายในบริเวณวัดสวนดอก หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนผ่านไปจังหวัดเชียงใหม่ อย่าลืมเข้าไปสักการะกู่ของเจ้าน้อยฯได้นะครับ โดยในปัจจุบันยังคงมีนักเรียน นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยว มักจะแวะเวียนไปสักการะอยู่เป็นประจำ โดยนิยมสักการะด้วยดอกกุหลาบแดง ซึ่งดอกกุหลาบแดงนั้น เป็นสัญลักษณ์ของความรัก และหลายคนมักจะขอพรเรื่องของความรักด้วย เพราะเชื่อกันว่า เจ้าน้อยฯท่านผิดหวังในความรัก หากใครไปขอพรท่าน ท่านก็จะช่วยให้สมหวัง เพื่อทดแทนในสิ่งที่ท่านขาดหายไป ขอให้ทุกคนมีความสุขสมหวังในความรักทุกคนนะครับ



ที่มา http://sundiiary.blogspot.com/2016/03/blog-post_5.html

0 ความคิดเห็น: